top of page

การแสดงปฐมเทศนา

             ปฐมเทศนา “ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร” นับเป็นเทศนากัณฑ์แรกที่ทรงแสดงทางที่พระองค์ทรงปฏิบัติ ได้ทรงแสดงธรรมที่ได้ตรัสรู้ ได้ทรงแสดง ญาณ คือ ความรู้ของพระองค์ที่เกิดขึ้นในธรรมนั้น  โดยปฐมเทศนานี้ได้แสดงใน วันอาสาปุณณมี วันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ อาสาฬหมาส หรือ วันอาสาฬหบูชาโดยใจความปฐมเทศนานี้ คือ

ตอนที่ ๑ พระพุทธเจ้าได้ทรงชี้ทางที่บรรพชิต คือ นักบวชซึ่งมุ่งความหน่าย มุ่งความสิ้นราคะความติด ความยินดี มุ่งความตรัสรู้ มุ่งพระนิพพาน ไม่ควรซ่องเสพ อันได้แก่ กามสุขัลลิกานุโยค คือ ความประกอบตนด้วยความสุขสดชื่นอยู่ในทางกาม และ อัตตกิลมถานุโยคคือ ประกอบการทรมานตนให้ลำบากเดือดร้อนเปล่า เหล่านี้เป็นข้อปฏิบัตีที่เป็นของต่ำทราม เป็นกิจของปุถุชน มิใช่กิจของบรรพชิตผู้มุ่งผลแห่งที่สุด

ตอนที่ ๒ ได้ทรงแสดงธรรมะที่ได้ตรัสรู้ เมื่อละทางทั้งสองข้างต้น และมาเดินทางสายกลาง เรียกว่า “มัชฌิมาปฏิปทา คือ  ข้อปฏิบัติที่เป็นกลางที่เป็นข้อปฏิบัติอันสมควร แล้วทรงแสดงทางสายกลาง หรืออริยมรรคมีองค์ ๘อันประเสริฐ ได้แก่

อริยมรรคมีองค์ ๘

๑.  สัมมาทิฏฐิ  คือ  ความเห็นชอบ
๒.  สัมมาสังกัปปะ  คือ  ความดำริชอบ
๓.  สัมมาวาจา  คือ  เจรจาชอบ
๔.  สัมมากัมมันตะ  คือ  ทำการงานชอบ
๕.  สัมมาอาชีวะ  คือ  เลี้ยงชีพชอบ
๖.  สัมมาวายามะ  คือ  มีความเพียรชอบ
๗.  สัมมาสติ  คือ  ระลึกชอบ
๘.  สัมมาสมาธิ  คือ  ตั้งใจชอบ

ความหมายของอริยมรรคมีองค์ ๘ ได้แก่

๑.  สัมมาทิฏฐิ คือ  มีปัญญาอันเห็นชอบ ได้แก่ เห็นในอริยสัจ ๔
๒.  สัมมาสังกัปปะ คือ ดำริชอบ ได้แก่
-  ดำริที่จะออกจากกาม เนกขัมมะหรือการออกบวช รักษาศีล
-  ดำริในการไม่พยาบาทปองร้ายผู้อื่น
-  ดำริในการไม่เบียดเบียนผู้อื่น
๓.  สัมมาวาจา คือ เจรจาชอบ ได้แก่ เว้นจากวจีทุจริต ๔ คือ ไม่ประพฤติชั่วทางวาจา ได้แก่
-  มุสาวาทา ไม่พูดเท็จ
-  ปิสุณายวาจาย ไม่พูดส่อเสียด ยุยงให้เขาแตกร้าวกัน
-  ผรุสายวาจาย ไม่พูดคำหยาบคาย
-  สัมผัปปลาปา ไม่พูดเพ้อเจ้อเหลวไหลไร้สาระ        
๔.  สัมมากัมมันตะ คือ ทำการงานชอบ โดยประกอบการงานที่ไม่ผิดประเพณี ไม่ผิดกฎหมาย ไม่ผิดศีลธรรม และเว้นจากกายทุจริต ๓ ได้แก่
-  ปาณาติบาต เว้นจากการเบียดเบียนฆ่าสัตว์ตัดชีวิต
-  อทินนาทาน เว้นจากการลักขโมย และฉ้อฉลคดโกงแกล้งทำลายผู้อื่น
-  กาเมสุมิจฉาจาร เว้นจากการประพฤติผิดในกาม
๕.  สัมมาอาชีวะ คือ เลี้ยงชีวิตชอบ ได้แก่ เว้นจากการเลี้ยงชีพในทางที่ผิด ประกอบสัมมาอาชีพ คือ
-  เว้นจากการค้าขายเครื่องประหารมนุษย์และสัตว์
-  เว้นจากการค้าขายมนุษย์ไปเป็นทาส
-  เว้นจากการค้าสัตว์สำหรับฆ่าเป็นอาหาร
-  เว้นจากการค้าขายน้ำเมา
-  เว้นจากการค้าขายยาพิษ
๖.  สัมมาวายามะ คือ มีความเพียรชอบ  ๔ ประการ ได้แก่
-  เพียรระวังมิให้บาปหรือความชั่วเกิดขึ้น
-  เพียรละบาปหรือความชั่วที่เกิดขึ้นแล้ว
-  เพียรทำกุศลหรือความดีให้เกิดขึ้น
-  เพียรรักษากุศลหรือความดีที่เกิดขึ้นแล้วให้คงอยู่
๗.  สัมมาสติ คือ ระลึกชอบ ได้แก่ การระลึกวิปัฏฐาน การระลึกในกาย เวทนา  จิต และธรรม ๔ ประการคือ
-  พิจารณากาย ระลึกได้เมื่อรู้สึกสบายหรือไม่สบายพิจารณาลมหายใจเข้าออก
-  พิจารณาเวทนา ระลึกได้เมื่อรู้สึกสุขหรือทุกข์ หรือเฉย ๆ มีราคะ โทสะ โมหะ  หรือไม่ 
-  พิจารณาจิต ระลึกได้ว่าจิตกำลังเศร้าหมองหรือผ่องแผ้ว รู้เท่าทันความนึกคิด
-  พิจารณาธรรมให้เกิดปัญญา ระลึกได้ว่าอารมณ์อะไรกำลังผ่านเข้ามาในใจ
๘.  สัมมาสมาธิ คือ ตั้งใจชอบ ทำจิตให้สงบ ระงับจากกิเลสเครื่องเศร้าหมอง 
ให้มีอารมณ์แน่วแน่เป็นอันเดียว เพื่อให้จิตจดจ่อไม่ฟุ้งซ่าน หาอารมณ์อันไม่มีโทษให้จิตมีที่ยึด
จะได้ไม่พร่าไปหลายทางได้แก่ การเจริญฌานทั้ง ๔ คือ
-  ปฐมฌาน   ฌานที่ ๑
-  ทุติยฌาน   ฌานที่ ๒
-  ตติยฌาน    ฌานที่ ๓
-  จตุตถฌาน ฌานที่ ๔
สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ คือ เห็นชอบ ดำริชอบ สงเคราะห์เข้าในปัญญาสิกขา 
สัมมาวาจา  สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ คือ เจรจาชอบ ทำการงานชอบ การเลี้ยงชีพชอบ สงเคราะห์เข้าในศีลสิกขา
สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ คือความเพียรชอบ ตั้งสติระลึกชอบ ตั้งจิตใจมั่นสงเคราะห์เข้าในจิตตสิกขา หรือกลุ่ม สมาธิ

แล้วสรุปรวมลงซึ่งองค์ประกอบทั้ง ๘ นั้น ด้วย อริยสัจ ๔ ซึ่งแปลว่า ความจริงของบุคคลผู้ประเสริฐ ๔ ประการ ได้แก่

๑.  ทุกข์ คือ ความไม่สบายกายไม่สบายใจ กล่าวโดยย่อ คือ ขันธ์ที่ยึดถือไว้ทั้ง ๕ ประการเป็นทุกข์
๒.  สมุทัย หรือ ทุกขสมุทัย คือ เหตุให้เกิดทุกข์  ทรงชี้ถึงตัณหาความดิ้นรนทะยานอยากของใจ เป็นเหตุแห่งทุกข์
๓.  นิโรธ หรือ ทุกขนิโรธ คือ ความดับทุกข์  คือ ดับตัณหาเสียได้ไม่อาลัยพัวพันใน ตันหาก็ถึงความดับทุกข์
๔.  มรรค หรือ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา คือ  ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์

ตอนที่ ๓ พระพุทธองค์ได้ทรงชี้แจงว่า ที่เรียกว่า ตรัสรู้นั้น คือ รู้อะไร มีลักษณะเช่นไร คือ ต้องเป็นความรู้ที่ผุดขึ้นว่านี่เป็นทุกข์ เป็นสมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์ ควรละ เป็นนิโรธความดับทุกข์ ควรทำให้แจ้ง เป็นมรรค ทางให้ถึงความดับทุกข์ ปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ได้อบรมให้มีขึ้นได้บริบูรณ์แล้ว เพราะฉะนั้น ญาณคือ ความตรัสรู้ที่ประกอบด้วย    
สัจจญาณ คือ รู้ในความจริงว่านี่เป็นเหตุแห่งความทุกข์ ส่วนหนึ่งเป็น
กิจจญาณ คือ ความรู้ในกิจคือหน้าที่ที่จะปฏิบัติทำให้ดับทุกข์ ส่วนหนึ่งเป็น 
กตญาณ คือ ความรู้ในการทำกิจเสร็จแล้ว คือ รู้แจ้งแห่งมรรค ดับทุกข์ได้หมดจด 
เพราะฉะนั้นในพระสูตรจึงแสดงว่า ความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้านั้นเป็น ปัญญาญาณ คือ ความหยั่งรู้ ที่มีวนรอบ ๓ มีอาการ ๑๒ คือ ต้องรู้ในอริยสัจ ๔ นั้นโดยเป็นสัจญาณ โดยเป็นกิจจญาณ โดยเป็นกตญาณ ๓ คูณ ๔ ก็เป็น ๑๒ มีอาการ ๑๒ เป็นความรู้ที่วนรอบ ๓ มีอาการ ๑๒ ดังกล่าวนี้ จึงเรียกว่า เป็นความตรัสรู้ จึงเรียกว่าเป็น พุทธะ คือ เป็นผู้ตรัสรู้ ถ้าจะเรียกปัญญาของพระองค์ท่านก็เป็น โพธิ ที่แปลว่าความตรัสรู้

bottom of page